วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

การทอผ้าฝ้ายยกดอกลำพูน

หัตถกรรมทอผ้าพื้นบ้าน เป็นงานฝีมือที่เชื่อมโยงถึงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีการดำรงชีวิตของคนพื้นบ้านในแต่ละยุคสมัยตามกาลเวลาและการหล่อหลอมให้เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมจนเป็นเอกลักษณ์ตามลักษณะของพื้นบ้านตน ภูมิปัญญาเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยฝีมือเชิงศิลปะ เพื่อถ่ายทอดและสะท้อนคุณค่าของชุมชนที่เป็นอยู่ลงในเนื้องานทั้งการบ่งบอกลักษณะที่ตั้งของชุมชนรวมถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่แสดงออกมาอย่างประณีต สวยงามและทักษะในงานฝีมือนี้จะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้งานศิลปหัตถกรรมการทอผ้าพื้นบ้านเป็นสิ่งบอกเล่าความเป็นมาของเชื้อชาติ ชุมชนนั้นได้เป็นอย่างดี
            ผ้ายกลำพูน นับว่าเป็นผ้ายกของไทยที่มีประวัติอันยาวนาน มีความสำคัญและมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น งดงาม เป็นศิลปหัตถกรรมประเภทสิ่งทอพื้นบ้านที่ควรอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่และสืบทอดต่อไป ผู้วิจัยจึงมีความประสงค์ที่จะนำวิชาการการจัดการความรู้มาใช้ศึกษาการจัดการความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา เรื่อง การทอผ้ายกลำพูน โดยการนำกระบวนการจัดการความรู้ที่ประกอบด้วย การรวบรวมและการสร้างความรู้ การจัดเก็บและค้นคืนความรู้ การถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษารูปแบบและกระบวนการทอผ้ายกลำพูน เพื่อนำความรู้ดังกล่าวไปพัฒนาเป็นระบบการจัดการความรู้ และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่ง ในการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในลักษณะของเว็บไซต์ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่อนุชนและผู้สนใจ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันมีค่ายิ่งนี้ให้คงอยู่สืบไป