วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การทำร่มด้วยกระดาษสา

ตำนานร่มบ่อสร้าง

      ร่มบ่อสร้างตามตำนานเล่ากันว่า  ครั้งหนึ่งเมื่อพระครูอินถา ซึ่งประจำอยู่วัดบ่อสร้าง  อำเภอสันกำแพง   จังหวัดเชียงใหม่  ไดธุดงค์ไปปฏิบัติกรรมฐานอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า ได้มีโอกาสเห็นวิถีชีวิตและการทำร่มของชาวบ้าน ซึ่งเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อย้ายมาจากมณฑลยูนานแคว้นสิบสองปันนาประเทศจีน และตั้งถิ่นฐานอยู่ตามบริเวณนั้นยังคงสืบทอดการทำร่มอยู่ พระครูบาสนใจวัฒนธรรมการทำร่มนี้เป็นอย่างมากจึงศึกษาอย่างละเอียด และนำกลับมาเผยแพร่ยังหมู่บ้านบ่อสร้าง โดยแยกชิ้นส่วนการทำร่มให้กับหมู่บ้านใกล้เคียงได้หัดทำ และนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบที่หมู่บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
     



       ลักษณะของร่มกระดาษที่มีคุณภาพดี

    1. มีรูปทรงสวยงาม
     2. โครงร่มและส่วนประกอบของร่มจะต้องมีความเรียบร้อยแข็งแรง
     3. กระดาษที่ใช้ปิดร่มมีความหนาพอสมควร
     4. สีและน้ำมันที่ใช้ทาไม่ตกและหลุดลอกได้ง่าย
     5. เวลาใช้สามารถกางขึ้นลงได้สะดวก
   
   การทำร่มเพื่อให้มีคุณภาพดี
    1. คัดเลือกวัตถุดิบเอาแต่ชนิดที่มีคุณภาพดี
     2. กรรมวิธีในการผลิต นับว่ามีความมีสำคัญมากเพราะร่มจะมีคุณภาพดีมีความสวยงามนั้นขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการผลิตทั้งสิ้นการประกอบร่มทุกขั้นตอนจะต้องทำ ด้วยความประณีตเสมอ
     3. การเก็บรักษาร่ม และส่วนประกอบของร่มจะต้องมีการป้องกันตัวแมลงต่างๆ มิให้มาทำลายร่มได้ส่วนประกอบของร่มที่เป็นไม้ไผ่ควรจะได้รับการแช่น้ำยาเพื่อป้องกันแมลงเสียก่อน

   ขนาดของร่มกระดาษสาแบ่งออกได้เป็น 5 ขนาด
     1. ร่มขนาด 44 นิ้ว
      2. ร่มขนาด 20 นิ้ว
      3. ร่มขนาด 17 นิ้ว
      4. ร่มขนาด 14 นิ้ว
      5. ร่มขนาด 10 นิ้ว


     วิธีการทำร่มกระดาษสาจากเปลือกของต้นสา

        นำเปลือกสาที่ได้มาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วนำไปต้มกับขี้เถ้าหรือโซดาไฟ       ประมาณ 3-4 ชั่วโมง จนเห็นว่าเปื่อยดีแล้วจึงนำออกมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาทุบให้ละเอียดจนยุ่ย จึงนำไปแช่ในอ่างน้ำซึ่งก่อด้วยซีเมนต์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 2 คูณ 3 เมตรและลึกประมาณ1/2 เมตรบรรจุน้ำ 3/4  ของถัง  ใช้ไม้คนให้ทั่วแล้วใช้ตะแกรงขนาดตามที่ต้องการซึ่งส่วนมากจะมีขนาด 40x60 เซนติเมตร ตักเยื่อเปลือกไม้ในน้ำขึ้นมาแล้วนำออกมาตากให้แห้ง เมื่อเนื้อเยื่อของเปลือกสาที่ตากไว้แห้งดีแล้วจึงค่อยลอกออกมาก็จะได้กระดาษสาเป็นแผ่นเรียกกันว่ากระดาษสา ซึ่งสามารถนำไปใช้หุ้มร่มต่อไป
       
   วิธีทำโครงร่ม

    โครงร่มประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
   1. หัว  ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ตีนเป็น , ไม้ส้มเห็ด , ไม้ตุ้มคำ  และไม้แก
   2. ตุ้ม  ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ตีนเป็น , ไม้ส้มเห็ด , ไม้ตุ้มคำ  และไม้แก
   3. ค้ำ   ทำจากไม้ไผ่ตง เพราะเหนียวและทนทาน
   4. ซี่กลอน  ทำจากไม้ไผ่ตง เพราะเหนียวและทนทาน
   5. คันถือ  ทำจากไม้ไผ่เล่มเล็กหรือไม้เนื้ออ่อนก็ได้
   6. ม้า (สลัก)  ทำจากสำหรับเล่มเล็กทำด้วยสปริงเหล็ก  ส่วนร่มใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่เหลา
   7. ปลอกลาน  ทำจาก ใบลาน ทำหน้าที่เป็นตัวเคลื่อนขึ้น-ลงเวลากางหรือหุบร่ม
   
  วิธีหุ้มร่ม
       ร่มกระดาษสาหรือร่มฝ้ายคลุมร่มด้วยกระดาษสาหรือผ้าฝ้ายบางโดยใช้แป้งเปียกที่ผสมกับยางของผลตะโก ซึ่งได้จากการทุบตะโกให้ละเอียดแล้วนำไปดองไว้ประมาณ 3 เดือนจึงนำออกมาใช้ น้ำตะโกนี้จะช่วยทำให้ร่มกันฝนได้และทั้งยังช่วยทำให้ร่มตึงและช่วยให้แป้งเปียกเหนียวยึดวัสดุที่ใช้คลุมร่มเข้ากับโครงร่มได้สนิทดียิ่งขึ้น ในขั้นแรกทาแป้งเปียกที่ผสมน้ำยางผลตะโก 2 ครั้ง ตากร่มให้แห้งอีกครั้งหนึ่งจึงนำไปทาสี การทาสีร่มนี้ทำโดยการใช้ผ้าชุบสีกลึงบนร่มที่ต้องการสมัยก่อนมีเพียง 2 สีเท่านั้นที่ทาร่ม คือ สีแดงและสีดำ สีแดงได้จากการนำสีของดินแดงที่มีอยู่บนภูเขา ส่วนสีดำนั้นได้มาจากเขม่าไฟผสมน้ำมันยาง
      
  ร่มแพรกระดาษสา หรือ ร่มผ้าไหม       
    ใช้กาวลาเท็กซ์ทาลงบนโครงร่มและใช้ผ้าแพร  กระดาษสา  หรือผ้าไหม  รีดให้เรียบด้วยมือตัดให้เป็นรูปร่างตามโครงร่มที่คลุมเป็นอันใช้ได้

การเขียนลวดลายลงบนร่ม
         ในสมัยก่อนไม่ได้มีการเขียนลวดลายลงบนร่มเหมือนในปัจจุบันเพียงใช้ร่มสีพื้นๆ 2 สี ดังได้กล่าวมาแล้ว การเขียนลายลงบนร่มพึ่งมีขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง

        วัตถุดิบและส่วนประกอบของร่ม ร่มกระดาษใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบ คือ
        1. หัวร่ม ตุ้มร่ม ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน เช่นไม้โมกมัน ไม้สมเห็ด ไม้ซ้อ ไม้ตะแบก และไม้เนื้ออ่อนชนิดอื่นๆ เมื่อไม้แห้งแล้วไม่หดตัวมาก การที่เลือกเอาไม้เนื้ออ่อนเป็นหัวร่ม ตุ้มร่มนั้นเพราะว่าไม้เนื้ออ่อน สะดวกแก่การกลึงและผ่าร่องซี่
        2. ซี่ร่ม ทำด้วยไม่ไผ่ ไม้ไผ่ที่จะนำมาทำเป็นซี่ร่มต้องมีลักษณะปล้องของไม้ไผ่จะต้องยาวถึง 1 ฟุตขึ้นไป เนื้อไม้ไม่หนาน้อยกว่า 1 นิ้ว และเป็นไม้ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ไม้อ่อนใช้ไม่ได้ เพราะไม้อ่อนเวลาแห้งแล้วไม้หดตัวมาก และตัวมอดยังชอบกินอีกด้วย
        3. กระดาษปิดร่ม ใช้กระดาษที่มีเนื้อนิ่มไม่แข็งกระด้าง และมีความหนาพอสมควร แต่เท่านี้นิยมกันมากได้แก่กระดาษสา และกระดาษห่อของสีน้ำตาล
        4. น้ำมันทาร่ม ใช้ทาด้วยนำมันมะหมื่อ หรือนำมันทัง
        5. สีทาร่ม ใช้ทาด้วยสีน้ำมัน
        6. น้ำยางปิดร่ม ใช้ปิดด้วนน้ำยางตะโก หรือ น้ำยางมะค่า
        7. ด้าย ที่ใช้ในการร้อยประกอบส่วนต่างๆ ของร่มใช้ด้ายดิบหรือด้ายมันนำมากรอเป็นเส้นและตีควบเป็นเกลียวตามขนาดที่ต้องการ
        8. คันร่ม ใช้ไม้เนื้ออ่อนกลึงหรือทำด้วยไม้ไผ่ถ้าเป็นไม้ไผ่ต้องใช้ปลายไม้ขนาดเล็กหรือต้นไผ่ขนาดเล็กก็ได้ วัดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นไม่เกิน 7/8 นิ้ว และต้องมีรูข้างในด้วยเพื่อสะดวกในการติดสปริงดันร่ม
        9. หวายสำหรับพันด้ามร่ม ถ้าคันร่มทำด้วยไม้ไผ่ตรงส่วนที่เป็นด้ามถือ จะต้องพันด้วยเส้นหวายผ่าซีกขนาดเล็ก ( หวายเลียด ) หรือจะใช้ เส้นพลาสติกพันแทนก็ได้
      10. ปลอกสวมหัวร่ม ใช้ใบลาน ใบตาล หรือกระดาษหนา ที่มีความหนาใกล้เคียงกันก็ได้
      11. น้ำมันสำหรับผสมกับสี ใช้น้ำมันก๊าด
      12. ห่วงร่ม ทำจากเส้นตอกไม้ไผ่ ขดเป็นวงกลมและพันด้วยกระดาษสาให้รอบชุบน้ำยางตะโกและตากแดดให้แห้ง 
      13. โลหะครอบหัวร่ม ทำด้วยแผ่นปั๊มหรือพลาสติกปั๊มก็ได้ 

       วิธีทำร่มกระดาษ

         1. การทำหัวร่ม ตุ้มร่ม นำไม้สำหรับทำหัวร่ม และ ตุ้มร่ม ขนาดโตวัดเส้นผ่า ศูนย์กลางขนาด 2-2.5 นิ้วนำเอามาตัดท่อนๆความเท่ากับขนาดของหัวร่มและตุ่มร่มที่ต้องการแล้วเจาะรูตรงกลางขนาดพอที่จะใส่คันร่มชนิดนั้นๆ ได้แล้วจึงเอาไปกลึงเป็นหัวร่มรือตุ่มร่มตามแบบที่ได้กำหนดไว้
        2. การทำซี่ร่ม หลังจากได้ไม้ไผ่มาแล้งก็นำเอามาตัดออกเป็นท่อนๆถ้าเป็นไม้ไผ่ที่มีปล้องยาวก็ตัดระหว่างข้อ แต่ถ้าเป็นไม้ปล้องสั้นก็ตัดให้ข้อไม้อยู่ตรงกลางความยาวของท่อนไม้ที่ตัดเท่ากับขนาดของร่มที่จะทำ เช่น ทำร่มขนาด 20นิ้วก็ตัดไม้ไผ่ยาว 20นิ้วเป็นต้นเมื่อตัดไม้ไผ่เป็นท่อนยาวแล้วก็ใช้มีดขูดผิวไม้ออกให้หมดแล้วทำเครื่องหมายสำหรับเจาะรูไว้
โดยการใช้ตะปูตอกบนไม้ ขอให้ปลายตะปูโผล่ออกมานิดหนึ่งแล้วใช้ไม้ขอขีดรอบปล้องไม้ตรงกับระยะที่ต้องการเจาะรูแล้วจึงผ่าไม้ออกเป็น 4 ชิ้น แต่ละชิ้นขนาดเท่ากันใช้มีดตรงท้องตามระยะที่ได้กะไว้ให้เสมอกันทุกชิ้น ให้ทางปลายซี่เรียว และใช้มีดจักเป็นซี่ๆตรงหัวไม้ ความหนาแต่ละซี่ประมาณ 1/8 นิ้ว แล้วใช้มือฉีกออกเป็นซี่ๆ ถ้าฉีกไม่ออกก็ใช้มีดผ่าออกไปตรงๆ แล้วเหลาทั้งสองข้างให้ เรียบและปาดตรงหัวซี่ทั้ง 2 ให้บางพอดีที่จะใส่เข้าร่องหัวร่มได้แล้วซี่ตรงท้องนิดนึงเพื่อให้มุมมนแล้วเหลาตรงท้องซึ่งให้ ้ปลายซี่ร่มเรียวเท่ากันทุกๆซี่ ใช้มีดปลายแหลมแทงลงไปตรงรอยปาดท้องซี่ ให้ปลายมีดทะลุออกด้านหลังซึ่งตรงกลางแล้ว ผ่าตรงออกไปตามยาวประมาณ 2 นิ้ว เพื่อให้ปลายซี่สั้นสอดเข้าไปเวลาร้อยคือ ประติดกับซี่สั้น
        ส่วนการทำซี่ร่มสั้นนั้น ตัดไม้ยาวตามขนาดที่ต้องการแล้วเกลาเอาผิวไม้ออก แล้วทำเครื่องหมายสำหรับเจาะรู แล้ว จักเป็นซี่ๆ เหลาสองข้างให้เรียบร้อย ปลายซึ่งข้างหนึ่งปาดท้องซี่ให้เป็นมุมแล้วเหลา 2 ข้าง ให้บางที่จะสอดเข้ารองตุ่มร่มได้ ส่วนอีกข้างหนึ่งเหลาปลายให้มน และเหลาตรงปลาย 2 ข้างให้บางพอสมควร
        3. การเจาะรูซี่ร่มสั้นและซี่ร่มยาว ใช้เหล็กแหลมชนิดปลายเป็นสามเหลี่ยมเจาะโดยการหมุนไปหมุนมาหรือ จะใช้เหล็กแหลมเผาไฟให้ร้อนแล้วเจาะรูก็ได้ (ถ้าไม่มีเครื่องเจาะ) แต่ถ้ามีเครื่องเจาะซี่ร่มโดยเฉพาะ ก็ใช้เครื่องเจาะเพราะจะได้เร็ว
        4. การมัดหัวร่มและตุ่มร่มนำเอาซี่ร่มยาวและซี่ร่มสั้นที่เจาะรูแล้วร้อยติดกันเรียงเป็นตับโดยร้อยเอาทางหลัง ซี่ขึ้นข้างบนทุกซี่ แล้วเอาหัวร่มที่ผ่าร่องซี่แล้วมาปาดซี่ออกเสีย 1 ช่อง เพื่อสำหรับจะได้ไว้ผูกปมเชือก เอาซี่ร่มที่ร้อยแล้วใส่ลงไป ในหัวร่มช่องละซี่ แล้วดึงเชือกให้ตึงแล้วใส่ต่อไปอีกจนครบทุกช่อง แล้วดึงปลายเชือกทั้ง 2 ข้างให้ตึง เอาปลายเชือกผูกให้แน่น แล้วตัดเชือกที่ผูกออกให้เหลือปลายเชือกไว้ประมาณข้างละ 1 นิ้ว การมัดหัวร่มและตุ้มร่มทำด้วยวิธีเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง 
อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

การศึกษาการแกะสลักไม้บ้านถวาย


การศึกษาการแกะสลักไม้บ้านถวาย


เมื่อประมาณพันกว่าปีที่ผ่านมา ดินแดนบ้านถวายแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเคยเป็นชุมชนโบราณที่เป็นส่วนหนึ่งของเวียงละโว้ (ปัจจุบันคือบ้านละโว้ ตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของนครหริภุญไชย (จังหวัดลำพูน) ต่อมา พญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ได้ยึดครองนครหริภุญไชย เวียงละโว้จึงมีความสำคัญน้อยลงและล่มสลายไปในที่สุด ปัจจุบันยังคงปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นโบราณสถาน คือ ซากวัดร้างในบริเวณวัดถวาย และวัดต้นแก้วตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ การก่อกำเนิด ของชุมชนในสมัยโบราณโดยทั่วไป มักมีจุดเริ่มต้นจากการบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำมาหากินของผู้คน เมื่อผู้คนมีมากขึ้นก็รวมกันจัดตั้งเป็นชุมชนหรือหมู่บ้าน การก่อตั้งชุมชนบ้านถวายก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการเกษตรกรรม ทำให้ผู้คนอพยพเข้ามาทำมาหากินในบริเวณนี้และตั้งเป็นชุมชนเล็กๆ อยู่กันเป็นหย่อมบ้าน คือ บ้านถวายใน และบ้านถวายนอก ต่อมาเมื่อจำนวนผู้คนเพิ่มมากขึ้นจึงกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ดังเช่น ปัจจุบันคำว่า “ บ้านถวาย ” มีที่มาจากหลายแหล่ง คือ จากคำบอกเล่า และจากหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ จากคำบอกเล่าของคนในท้องถิ่นประเด็นแรกสรุปได้ว่า แต่เดิมในหมู่บ้านมีต้นหวายเป็นจำนวนมาก คนในชุมชนจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ ต้าหวาย ” อีกประเด็นหนึ่งมาจากชื่อของเศรษฐีที่ชื่อ “ วาย ” ซึ่งเป็นผู้สร้างหรือบูรณะวัดในหมู่บ้าน และจากหนังสือ “ รายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณในเมืองเชียงใหม่ ” พบว่ามีวัดหนึ่งชื่อ “ ถวาย ” ตั้งอยู่หมู่บ้าน “ ถวาย ” สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาเป็น “ ถวาย ” อันเป็นชื่อของวัดถวายและบ้านถวายในปัจจุบัน
บ้านถวายในปัจจุบัน
 ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง นับถือศาสนาพุทธ และใช้ภาษาถิ่น ในการพูดสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน จากวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านถวายที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ต่อมาได้มีผู้นำเอางานแกะสลักไม้เข้ามาสู่หมู่บ้านและเป็นอาชีพเสริมของชาว บ้าน มีการถ่ายทอดงานศิลปะการแกะสลักไม้และงานศิลปะแขนงอื่นที่เกี่ยวข้องสืบต่อ กันมาอย่างแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น จนกลายเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังได้รับการส่งเสริมจากทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ทำให้งานศิลปหัตกรรมของหมู่บ้านถวายได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ จนสามารถพัฒนาขึ้นเป็นธุรกิจการค้าที่สำคัญของตำบล( OTOP ) ที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง และเกี่ยวข้องผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากในปัจจุบัน
 
      

เครื่องปั้นดินเผา หมู่บ้านเหมืองกุง


ประวัติและความเป็นมาเครื่องปั้นดินเผา บ้านเหมืองกุง
ประวัติบ้านเหมืองกุง ในอดีตก่อนหน้าที่จะเกิดชุมชนแห่งนี้บริเวณดังกล่าวเป็นที่ราบเชื่อมระหว่างเมืองเชียงใหม่กับชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ทางด้านใต้หลายแห่ง เช่น เวียงดัง เวียงเกาะ เวียงแม เวียงท่ากาน เวียงมโน เวียงกุมกาม ตลอดไปจนถึงแคว้นหริกุญไชยฯ หากประมาณอายุของหมู่บ้านแห่งนี้คาดว่าคงเริ่มก่อตั้งขึ้นไม่เกินสมัยพระเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่( พ.ศ.2325-2356 ) ในอดีตชาวบ้านเหมืองกุงทำเครื่องปั้นดินเผาเฉพาะที่เป็นน้ำต้นและน้ำหม้อ เพื่อใช้ในครัวเรือนและนำไปใช้ในพิธีกรรมนำไปทำบุญและหากมีเหลือก็นำไปแลกเปลี่ยนหรือขายให้กับชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากนี้ชาวล้านนาได้ตั้งหม้อน้ำที่ชานเรือนหรือหน้าบ้านเพื่อสัญจรไปมาโดยจะเปลี่ยนหน้าน้ำใหม่ในวันสงกรานต์
นอก จากนี้ยังมีการใช้น้ำต้นในการรับแขกและถวายพระซึ่งประเพณีเช่นนี้จึงทำให้ เกิดการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของที่นี่ คือ หม้อน้ำ และน้ำต้นปัจจุบันได้มีการผลิตเพื่อขายมากขึ้น กล่าวคือ มิได้ขายเฉพาะในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่มีการทำเพื่อส่งขายทั่วไปฉะนั้นการทำเครื่องปั้นดินเผาเหมืองกุง จึงมีการนำเทคนิควิธีการสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตแต่การผลิตในรูปแบบดั้ง เดิมก็ยังคงมีให้เห็นกันทั่วไปในหมู่บ้านแห่งนี้เพราะตลาดส่วนใหญ่ยังมีความ ต้องการ และยังคงมีการสืบทอดวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของเครื่องปั้นดินเผาหมู่บ้านเหมืองกุง   
          หมู่บ้านเหมืองกุงได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านOTOPต้นแบบ ของจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 ทำให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวตลอดจนมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
วัสดุ อุปกรณ์ ขั้นตอนวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผา
วิธีการหมักดินเหนียว
                1.นำดินเหนียวไปตากให้แห้ง ประมาณ 1วัน
          2.นำดินเหนียวที่แห้งแล้วไปปั่นให้ละเอียด
3.เมื่อปั่นดินเหนียวเสร็จแล้วก็นำไปร่อนเพื่อเอาทรายเม็ดใหญ่ออก ถ้าไม่นำเม็ดทรายออกเวลาปั้นดินเหนียวจะมีรอยผุ
4.นำดินเหนียวไปหมักโดยต้องผสมน้ำเพื่อให้ดินเหนียวมากขึ้น ใช้เวลาในการหมัก 1 วัน
5.เมื่อนำดินเหนียวขึ้นจากอ่างหมักดินแล้วนำดินเหนียวเข้าเครื่องเพื่อทำการอัดดิน
6.นำถุงพลาสติกห่อดินไว้และสามารถนำมาใช้งานได้เลย
สีจากดินแดง
            ดินแดงนำมาจาก อำเภอดอยสะเก็ด ดินแดงจะอยู่ตามข้างทางเราสามารถขุดมาได้
วิธีการผสมสีจากดินแดง
            1.นำมาร่อนเพี่อเอาเศษทรายออก และต้องร่อนจนระเอียด
          2.นำมาผสมน้ำและน้ำมัน ใช้งานได้เลย
อุปกรณ์ ใช้ในการทำเครื่องปั้นดินเผา ภาชนะใส่อาหากระต่าย
            1.ที่วัดขนาด                          2.สีจากดินแดง
3.ผ้าผืนยาว สั้น                    4.ฟองน้ำ
5.สายเอ็น                              6.ดินเหนียว
7.ไพ่  สำหรับทำให้เครื่องปั้นเรียบ                8.กระเบื้องรองดินเหนียว
วิธีการทำ
1.เตรียมดินสำหรับการปั้น
2.นำกระเบื้องมาวางบนเครื่องปั้นใช้สำหรับรองดินเหนียว
3.ทำการปั้นโดยใช้เครื่องปั้นดินเหนียวใช้เครื่องมือตกแต่งให้เป็นรูปทรง
4.เมื่อปั้นเสร็จแล้วทำการเคลือบสีให้กับเครื่องปั้น
5.นำสายเอ็นมาตัดด้านล่างของเครื่องปั้นเพื่อให้หลุดออกจากกระเบื้อง
6.นำเครื่องปั้นดินเหนียวที่ปั้นเสร็จไปตากให้แห้งเพื่อรอการเข้าเตาเผา
 
วิธีการเผาเครื่องปั้น
ข้อดีสำหรับการเผาเครื่องปั้นก็คือ ทำให้เครื่องปั้นแข็งแกร่ง ทนทาน กันการไม่แตกหักง่าย
1.นำเครื่องปั้นใส่ในเตาเผา
2.จุดไฟนำถ่านและฟืนใส่ลงไปเรื่อยๆ เพื่อให้ไฟมีความร้อนสูงเพื่อจะได้เผาเครื่องปั้นให้มีความแข็งแกร่ง
 3.รอประมาณ 3 วัน ถึงจะสามารถนำเครื่องปั้นออกได้
ข้อมูลของปราชญ์ชาวบ้าน นายศรีไว บุญเติง        ทำหน้าที่ในการเผา
นางสา      จิราวรรณ    ทำหน้าที่ในการขัดเงา
นายจันทร์ สืบสุยะ       ทำหน้าที่ในการปั้น
นางกัลยา  สุจิดยะ         ทำหน้าที่ในการวาดลาย
นางฟองแก้ว  กุนามณี   ทำหน้าที่ในการปั้นแบบโบราณ
นายปรีชา  สายอมร       ทำหน้าที่ในการปั้น

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

    การศึกษาการประดิษฐ์ของเล่นพื้นบ้าน ในโครงการอุ้ยสอนหลาน อ.แม่วาง


          ของเล่นพื้นบ้าน คือ สิ่งของวัสดุที่นำมาเล่นโดยทำมาจากวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น เป็นผลผลิตจากธรรมชาติหรืออาจเหลือใช้จากธรรมชาติก็ได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของสังคมอื่นๆ.



           ของเล่นพื้นบ้านในปัจจุบันนั้นบางส่วนได้ถูกลืมเลือนไปบ้างแล้ว แต่บางส่วนก็ยังคงอนุรักษ์เอาไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ''เต่ากะลา''


อุปกรณ์การทำเต่ากะลา
                                   
 
         1.กะลามะพร้าว
        

         2.มีด,เลื่อย  
       
  
        3.เชือก
       
  
       4.ยางรัด







 
    5.กระดาษทราย



    6.เปลือกไม้



    7.กาวติดไม้



    8.เปลือกมะพร้าว





วิธีการทำเต่ากะลา

1. นำกะลามะพร้าวมาผ่าครึ่งตามแนวนอนแล้วขัดแต่งให้เรียบ
2. เจาะรูตรงกลางกะลาและบากร่อง2ร่องทั้งสองข้างของกะลาเพื่อร้อยยางรัด
3. ทำล้อโดยใช้เศษไม้มาเหลาเป็นวงกลมและขอดตรงกลางเหมือนหลอดด้ายและมีขนาดเล็กกว่ากะลา บากหัวท้ายทั้ง 2 ฝั่ง
4.  นำเปลือกมะพร้าวมาตัดเป็นส่วนหัวและส่วนหางของเต่าแล้วติกาวและตกแต่งตามต้องการ
5.  นำมาประกอบกันโดยใส่ยางรัดที่ลูกล้อแล้วใช้เชือกยาว 50เซนติเมตร มัดล้อไว้แล้วพันเชือกตามล้อไปทางด้านหัว นำปลายเชือกอีกด้านหนึ่งสอดออกทางกะลาด้านบนที่เจาะรูไว้ นำปลายเชือกมัดติดกับท่อนไม้เล็กๆ ไว้สำหรับดึง

เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะได้ดั่งภาพ















ผู้ที่ให้ข้อมูล



พ่ออุ้ยใจ๋คำ   ตาปัญโญ


เครื่องเงินวัวลาย (เครื่องประดับและของตกแต่งบ้าน)


เครื่องเงินวัวลาย
        เครื่องเงิน ของบ้านศรีสุพรรณปรากฏหลักฐานตั้งแต่ พญามังราย สร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสร้างความสัมพันธ์กับพุกาม และเจรจาขอช่างฝีมือมายังเมืองเชียงใหม่ เพื่อฝึกอาชีพเสริมให้กับประชาชน ทำให้เชียงใหม่มีช่างหัตถกรรมพื้นบ้านที่ได้รับการฝึกฝนและมีการสืบทอดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำเครื่องเงินของช่างบ้านศรีพรรณ ช่างในคุ้มหลวงเมืองเชียงใหม่ ได้ถ่ายทอดการทำเครื่องเงินให้แก่ลูกหลานจนสามารถเป็นช่างฝีมือในการทำเครื่องเงิน และเป็นที่ยอมรับได้ขยายแหล่งที่ผลิตเครื่องเงิน ไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ เช่นบ้านหารแก้ง อำเภอหางดง บ้านแม่หย้อย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
          ในอดีตชาวบ้านวัวลายจะประกอบอาชีพทำนาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อว่างเว้นจากการทำนาก็จะเป็นช่างฝีมือ ทำเครื่องเงินตามที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ เกือบทุกบ้านจะมีโรงงานขนาดเล็กประจำอยู่ที่บ้าน เรียกว่า "เตาเส่า" สมาชิกในครอบครัวจะช่วยกันทำเครื่องเงินเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน และเพื่อการค้า

ความสำคัญของเครื่องเงินวัวลาย
      เครื่องเงินวัวลายเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงและมีคุณค่าของจังหวัดเชียงใหม่ การทำเครื่องเงินเป็นทั้งงานช่างและงานศิลป์ที่จะต้องอาศัยความประณีตและความละเอียดอ่อน เพื่อผลงานที่ออกมาจะได้สวยและงดงามตามลวดลายต่างๆที่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเงินวัวลาย

       วัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือผลิตเครื่องเงิน

1.วัตถุดิบ
2.อุปกรณ์หลอม


3.อุปกรณ์ขึ้นรูป


กระบวนการผลิตเครื่องเงิน
ขั้นตอนที่ 1
การหลอมเงิน
1.จัดเตรียมเม็ดเงินบริสุทธิ์ตามจำนวนปริมาณที่ต้องการ
2.นำเม็ดเงินบริสุทธิ์ลงในเบ้าหลอมเพื่อเตรียมนำเข้าเตาหลอม
3.นำเบ้าที่ใส่เม็ดเงินไว้เรียบร้อยเข้าเตาหลอม
4.หลอมโดยใช้ไฟสูง 200 องศาประมาณ 10 นาที
5.จัดเตรียมพิมพ์หล่อไว้ให้เรียบร้อยโดยใช้ผงถ่านเช็ดที่แม่พิมพ์เพื่อมิให้เนื้อเงินติดแม่พิมพ์
6.เทเนื้อเงินที่เป็นของเหลวลงงานพิมพ์หล่อที่จัดเตรียมไว้
7.เนื้อเงินที่หลอมละลายจะไหลลงพิมพ์และแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้
8.จะได้เงินที่หลอมไว้เนื้อเดียวกันเรียบร้อยและพร้อมนำขึ้นรูป

ขั้นตอนที่ 2
การขึ้นรูป
1.นำเงินที่หลอมได้ เตรียมทำการขึ้นรูป
2.ช่างจะนำแว่นเงินที่ได้มาทำการตีด้วยค้อนแต่ละขนาด เพื่อให้เนื้อเงินขยายตามรูปทรง ขนาดของถาดที่กำหนด
3.เมื่อตีขึ้นรูปตามที่กำหนดไว้ตามรูปร่างที่กำหนด

ขั้นตอนที่ 3
การทำลวดลาย
1.นำเงินที่จะสลักลวดลายใส่ไปในแท่นพิมพ์ที่ทำด้วยชัน
2.ตอกลายจากข้างในขันเงินให้นูนออกมา
3.ใส่ชันลงไปในขันเงินนั้นให้เต็ม และคว่ำขันเงินนั้น เพื่อแต่งลวดลายภายนอกให้สวยงามด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆให้เหมาะสมกับลายนั้น
4.เอาชันออกจากขันเงินโดยการลนไฟ เมื่อชันละลายก็จะหลุดออกมาจากแบบพิมพ์
5.ผิวที่ขรุขระใช้ขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวเนื้อเรียบ
6.นำขันเงินที่เสร็จแล้วนั้นไปต้มด้วยน้ำกรดผสมกำมะถัน ต้มนานประมาณ 30 นาที ให้อุณหภูมิที่สูงมาก ถ้าอุณหภูมิไม่สูง วัตถุที่ต้มจะไม่ขาว
ขัดขันเงินในน้ำสะอาดด้วยแปรงทองเหลือง จะใช้ผงซักฟอกกับน้ำมะขามเปียก หรือผงหินขัดก็ได้ ขันเงินนั้นจะขาวเป็นเงางาม
 ขั้นตอนที่ 4
การทำความสะอาด

1.ใช้แป้งจีนขัดได้โดยไม่ต้องใช้น้ำ
2.ซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดเครื่องเงินโดยเฉพาะ ซึ่งมีด้วยกันหลากหลาย
ยี่ห้อ ทั้งที่เป็นแบบผ้าเช็ดทำความสะอาดสำเร็จรูป ซึ่งใช้สำหรับทำความสะอาดเครื่องเงินโดยเฉพาะ หรือจะเป็นแบบครีมกระปุก สำหรับเช็ดทำความสะอาดเครื่องประดับ ซึ่งหาซื้อง่ายตามร้านขายเครื่องประดับทั่วไป
3.ใช้น้ำส้มสายชู หรือน้ำมะขามเปียกในการต้ม ผสมน้ำ 1 ต่อ 2 ต้มพอเดือดสามารถเอาเครื่องเงินจุ่มลงไปได้เลย รอสักครู่ก็จะได้เครื่องเงินที่ขาวใส แวววาว
4.เอาน้ำใส่หม้อ เติมโซดาซักผ้า 2 ช้อนชา แล้วนำเครื่องเงินใส่ลงหม้อเพื่อต้มแล้วล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง ขัดด้วยผงขัดเงินเช็ดด้วยผ้านุ่มๆ
5.นำเครื่องเงินแช่ไว้ในน้ำต้มมันฝรั่ง 1 ชั่วโมง แล้วนำขึ้นล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้งจะดูเป็นเงาเหมือนใหม่
 6.ใช้น้ำมะขามเปียกหรือน้ำมะนาวผสมขี้เถ้าขัด แล้วล้างด้วยน้ำสบู่ผสมน้ำอุ่น ล้างน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้ง ถ้าไม่ใช้น้ำมะขามเปียกจะใช้ยาขัดชนิดผงหรือน้ำที่มีขายตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้ามาใช้ทำความสะอาดก็ได้เพื่อความสะดวก แต่ยาขัดชนิดนี้จะมีส่วนผสมของอลูมิเนียมและโซดาอยู่
7.บีบยาสีฟันออกจากหลอดแล้วไปตากให้แห้ง จากนั้นบดให้ละเอียดผสมน้ำมะนาว คนให้เข้ากันใช้สำลีชุบส่วนผสม นำไปขัดเครื่องเงินให้ทั่ว หรือจะใช้ขี้บุหรี่ผสมน้ำมะนาวขัดแทนก็ได้

 ขั้นตอนที่ 5
การตรวจเช็คคุณภาพ
       การตรวจสอบเครื่องเงินควรตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และตรวจอย่างละเอียด หากเครื่องเงินมีตำหนิหรือเสียหายจะได้นำกลับไปซ้อมแซม และนำไปทำความสะอาด

ขั้นตอนที่ 6

การนำเข้าบรรจุภัณฑ์
1.เตรียมถุงพลาสติกที่มีความอดทนและมีความหนาบางพอสมควร
2.เลือกขนาดของถุงพลาสติกให้เหมาะสมกับเครื่องเงินชิ้นนั้น
3.นำเครื่องเงินใส่ถุงพลาสติก จัดทรงของถุงพลาสติกให้สวยงาม
4.ถ้าเป็นเครื่องเงินชิ้นเล็ก ให้เย็บถุงพลาสติกด้วยเม็กซ์เย็บกระดาษ
หากเป็นเครื่องเงินชิ้นใหญ่ ให้รัดด้วยเชือกสีต่างๆ ให้สวยงาม
5.นำเครื่องเงินประเภทเครื่องประดับใส่ไว้ในตู้ เพื่อวางขายต่อไป



 ผู้ให้ข้อมูล
คุณ สมนึก  อุดมเศษณ์

  
สถานที่
   ร้านวัวลายศิลป์ 106-10 วัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50000