วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การทำร่มด้วยกระดาษสา

ตำนานร่มบ่อสร้าง

      ร่มบ่อสร้างตามตำนานเล่ากันว่า  ครั้งหนึ่งเมื่อพระครูอินถา ซึ่งประจำอยู่วัดบ่อสร้าง  อำเภอสันกำแพง   จังหวัดเชียงใหม่  ไดธุดงค์ไปปฏิบัติกรรมฐานอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า ได้มีโอกาสเห็นวิถีชีวิตและการทำร่มของชาวบ้าน ซึ่งเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อย้ายมาจากมณฑลยูนานแคว้นสิบสองปันนาประเทศจีน และตั้งถิ่นฐานอยู่ตามบริเวณนั้นยังคงสืบทอดการทำร่มอยู่ พระครูบาสนใจวัฒนธรรมการทำร่มนี้เป็นอย่างมากจึงศึกษาอย่างละเอียด และนำกลับมาเผยแพร่ยังหมู่บ้านบ่อสร้าง โดยแยกชิ้นส่วนการทำร่มให้กับหมู่บ้านใกล้เคียงได้หัดทำ และนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบที่หมู่บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
     



       ลักษณะของร่มกระดาษที่มีคุณภาพดี

    1. มีรูปทรงสวยงาม
     2. โครงร่มและส่วนประกอบของร่มจะต้องมีความเรียบร้อยแข็งแรง
     3. กระดาษที่ใช้ปิดร่มมีความหนาพอสมควร
     4. สีและน้ำมันที่ใช้ทาไม่ตกและหลุดลอกได้ง่าย
     5. เวลาใช้สามารถกางขึ้นลงได้สะดวก
   
   การทำร่มเพื่อให้มีคุณภาพดี
    1. คัดเลือกวัตถุดิบเอาแต่ชนิดที่มีคุณภาพดี
     2. กรรมวิธีในการผลิต นับว่ามีความมีสำคัญมากเพราะร่มจะมีคุณภาพดีมีความสวยงามนั้นขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการผลิตทั้งสิ้นการประกอบร่มทุกขั้นตอนจะต้องทำ ด้วยความประณีตเสมอ
     3. การเก็บรักษาร่ม และส่วนประกอบของร่มจะต้องมีการป้องกันตัวแมลงต่างๆ มิให้มาทำลายร่มได้ส่วนประกอบของร่มที่เป็นไม้ไผ่ควรจะได้รับการแช่น้ำยาเพื่อป้องกันแมลงเสียก่อน

   ขนาดของร่มกระดาษสาแบ่งออกได้เป็น 5 ขนาด
     1. ร่มขนาด 44 นิ้ว
      2. ร่มขนาด 20 นิ้ว
      3. ร่มขนาด 17 นิ้ว
      4. ร่มขนาด 14 นิ้ว
      5. ร่มขนาด 10 นิ้ว


     วิธีการทำร่มกระดาษสาจากเปลือกของต้นสา

        นำเปลือกสาที่ได้มาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วนำไปต้มกับขี้เถ้าหรือโซดาไฟ       ประมาณ 3-4 ชั่วโมง จนเห็นว่าเปื่อยดีแล้วจึงนำออกมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาทุบให้ละเอียดจนยุ่ย จึงนำไปแช่ในอ่างน้ำซึ่งก่อด้วยซีเมนต์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 2 คูณ 3 เมตรและลึกประมาณ1/2 เมตรบรรจุน้ำ 3/4  ของถัง  ใช้ไม้คนให้ทั่วแล้วใช้ตะแกรงขนาดตามที่ต้องการซึ่งส่วนมากจะมีขนาด 40x60 เซนติเมตร ตักเยื่อเปลือกไม้ในน้ำขึ้นมาแล้วนำออกมาตากให้แห้ง เมื่อเนื้อเยื่อของเปลือกสาที่ตากไว้แห้งดีแล้วจึงค่อยลอกออกมาก็จะได้กระดาษสาเป็นแผ่นเรียกกันว่ากระดาษสา ซึ่งสามารถนำไปใช้หุ้มร่มต่อไป
       
   วิธีทำโครงร่ม

    โครงร่มประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
   1. หัว  ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ตีนเป็น , ไม้ส้มเห็ด , ไม้ตุ้มคำ  และไม้แก
   2. ตุ้ม  ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ตีนเป็น , ไม้ส้มเห็ด , ไม้ตุ้มคำ  และไม้แก
   3. ค้ำ   ทำจากไม้ไผ่ตง เพราะเหนียวและทนทาน
   4. ซี่กลอน  ทำจากไม้ไผ่ตง เพราะเหนียวและทนทาน
   5. คันถือ  ทำจากไม้ไผ่เล่มเล็กหรือไม้เนื้ออ่อนก็ได้
   6. ม้า (สลัก)  ทำจากสำหรับเล่มเล็กทำด้วยสปริงเหล็ก  ส่วนร่มใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่เหลา
   7. ปลอกลาน  ทำจาก ใบลาน ทำหน้าที่เป็นตัวเคลื่อนขึ้น-ลงเวลากางหรือหุบร่ม
   
  วิธีหุ้มร่ม
       ร่มกระดาษสาหรือร่มฝ้ายคลุมร่มด้วยกระดาษสาหรือผ้าฝ้ายบางโดยใช้แป้งเปียกที่ผสมกับยางของผลตะโก ซึ่งได้จากการทุบตะโกให้ละเอียดแล้วนำไปดองไว้ประมาณ 3 เดือนจึงนำออกมาใช้ น้ำตะโกนี้จะช่วยทำให้ร่มกันฝนได้และทั้งยังช่วยทำให้ร่มตึงและช่วยให้แป้งเปียกเหนียวยึดวัสดุที่ใช้คลุมร่มเข้ากับโครงร่มได้สนิทดียิ่งขึ้น ในขั้นแรกทาแป้งเปียกที่ผสมน้ำยางผลตะโก 2 ครั้ง ตากร่มให้แห้งอีกครั้งหนึ่งจึงนำไปทาสี การทาสีร่มนี้ทำโดยการใช้ผ้าชุบสีกลึงบนร่มที่ต้องการสมัยก่อนมีเพียง 2 สีเท่านั้นที่ทาร่ม คือ สีแดงและสีดำ สีแดงได้จากการนำสีของดินแดงที่มีอยู่บนภูเขา ส่วนสีดำนั้นได้มาจากเขม่าไฟผสมน้ำมันยาง
      
  ร่มแพรกระดาษสา หรือ ร่มผ้าไหม       
    ใช้กาวลาเท็กซ์ทาลงบนโครงร่มและใช้ผ้าแพร  กระดาษสา  หรือผ้าไหม  รีดให้เรียบด้วยมือตัดให้เป็นรูปร่างตามโครงร่มที่คลุมเป็นอันใช้ได้

การเขียนลวดลายลงบนร่ม
         ในสมัยก่อนไม่ได้มีการเขียนลวดลายลงบนร่มเหมือนในปัจจุบันเพียงใช้ร่มสีพื้นๆ 2 สี ดังได้กล่าวมาแล้ว การเขียนลายลงบนร่มพึ่งมีขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง

        วัตถุดิบและส่วนประกอบของร่ม ร่มกระดาษใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบ คือ
        1. หัวร่ม ตุ้มร่ม ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน เช่นไม้โมกมัน ไม้สมเห็ด ไม้ซ้อ ไม้ตะแบก และไม้เนื้ออ่อนชนิดอื่นๆ เมื่อไม้แห้งแล้วไม่หดตัวมาก การที่เลือกเอาไม้เนื้ออ่อนเป็นหัวร่ม ตุ้มร่มนั้นเพราะว่าไม้เนื้ออ่อน สะดวกแก่การกลึงและผ่าร่องซี่
        2. ซี่ร่ม ทำด้วยไม่ไผ่ ไม้ไผ่ที่จะนำมาทำเป็นซี่ร่มต้องมีลักษณะปล้องของไม้ไผ่จะต้องยาวถึง 1 ฟุตขึ้นไป เนื้อไม้ไม่หนาน้อยกว่า 1 นิ้ว และเป็นไม้ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ไม้อ่อนใช้ไม่ได้ เพราะไม้อ่อนเวลาแห้งแล้วไม้หดตัวมาก และตัวมอดยังชอบกินอีกด้วย
        3. กระดาษปิดร่ม ใช้กระดาษที่มีเนื้อนิ่มไม่แข็งกระด้าง และมีความหนาพอสมควร แต่เท่านี้นิยมกันมากได้แก่กระดาษสา และกระดาษห่อของสีน้ำตาล
        4. น้ำมันทาร่ม ใช้ทาด้วยนำมันมะหมื่อ หรือนำมันทัง
        5. สีทาร่ม ใช้ทาด้วยสีน้ำมัน
        6. น้ำยางปิดร่ม ใช้ปิดด้วนน้ำยางตะโก หรือ น้ำยางมะค่า
        7. ด้าย ที่ใช้ในการร้อยประกอบส่วนต่างๆ ของร่มใช้ด้ายดิบหรือด้ายมันนำมากรอเป็นเส้นและตีควบเป็นเกลียวตามขนาดที่ต้องการ
        8. คันร่ม ใช้ไม้เนื้ออ่อนกลึงหรือทำด้วยไม้ไผ่ถ้าเป็นไม้ไผ่ต้องใช้ปลายไม้ขนาดเล็กหรือต้นไผ่ขนาดเล็กก็ได้ วัดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นไม่เกิน 7/8 นิ้ว และต้องมีรูข้างในด้วยเพื่อสะดวกในการติดสปริงดันร่ม
        9. หวายสำหรับพันด้ามร่ม ถ้าคันร่มทำด้วยไม้ไผ่ตรงส่วนที่เป็นด้ามถือ จะต้องพันด้วยเส้นหวายผ่าซีกขนาดเล็ก ( หวายเลียด ) หรือจะใช้ เส้นพลาสติกพันแทนก็ได้
      10. ปลอกสวมหัวร่ม ใช้ใบลาน ใบตาล หรือกระดาษหนา ที่มีความหนาใกล้เคียงกันก็ได้
      11. น้ำมันสำหรับผสมกับสี ใช้น้ำมันก๊าด
      12. ห่วงร่ม ทำจากเส้นตอกไม้ไผ่ ขดเป็นวงกลมและพันด้วยกระดาษสาให้รอบชุบน้ำยางตะโกและตากแดดให้แห้ง 
      13. โลหะครอบหัวร่ม ทำด้วยแผ่นปั๊มหรือพลาสติกปั๊มก็ได้ 

       วิธีทำร่มกระดาษ

         1. การทำหัวร่ม ตุ้มร่ม นำไม้สำหรับทำหัวร่ม และ ตุ้มร่ม ขนาดโตวัดเส้นผ่า ศูนย์กลางขนาด 2-2.5 นิ้วนำเอามาตัดท่อนๆความเท่ากับขนาดของหัวร่มและตุ่มร่มที่ต้องการแล้วเจาะรูตรงกลางขนาดพอที่จะใส่คันร่มชนิดนั้นๆ ได้แล้วจึงเอาไปกลึงเป็นหัวร่มรือตุ่มร่มตามแบบที่ได้กำหนดไว้
        2. การทำซี่ร่ม หลังจากได้ไม้ไผ่มาแล้งก็นำเอามาตัดออกเป็นท่อนๆถ้าเป็นไม้ไผ่ที่มีปล้องยาวก็ตัดระหว่างข้อ แต่ถ้าเป็นไม้ปล้องสั้นก็ตัดให้ข้อไม้อยู่ตรงกลางความยาวของท่อนไม้ที่ตัดเท่ากับขนาดของร่มที่จะทำ เช่น ทำร่มขนาด 20นิ้วก็ตัดไม้ไผ่ยาว 20นิ้วเป็นต้นเมื่อตัดไม้ไผ่เป็นท่อนยาวแล้วก็ใช้มีดขูดผิวไม้ออกให้หมดแล้วทำเครื่องหมายสำหรับเจาะรูไว้
โดยการใช้ตะปูตอกบนไม้ ขอให้ปลายตะปูโผล่ออกมานิดหนึ่งแล้วใช้ไม้ขอขีดรอบปล้องไม้ตรงกับระยะที่ต้องการเจาะรูแล้วจึงผ่าไม้ออกเป็น 4 ชิ้น แต่ละชิ้นขนาดเท่ากันใช้มีดตรงท้องตามระยะที่ได้กะไว้ให้เสมอกันทุกชิ้น ให้ทางปลายซี่เรียว และใช้มีดจักเป็นซี่ๆตรงหัวไม้ ความหนาแต่ละซี่ประมาณ 1/8 นิ้ว แล้วใช้มือฉีกออกเป็นซี่ๆ ถ้าฉีกไม่ออกก็ใช้มีดผ่าออกไปตรงๆ แล้วเหลาทั้งสองข้างให้ เรียบและปาดตรงหัวซี่ทั้ง 2 ให้บางพอดีที่จะใส่เข้าร่องหัวร่มได้แล้วซี่ตรงท้องนิดนึงเพื่อให้มุมมนแล้วเหลาตรงท้องซึ่งให้ ้ปลายซี่ร่มเรียวเท่ากันทุกๆซี่ ใช้มีดปลายแหลมแทงลงไปตรงรอยปาดท้องซี่ ให้ปลายมีดทะลุออกด้านหลังซึ่งตรงกลางแล้ว ผ่าตรงออกไปตามยาวประมาณ 2 นิ้ว เพื่อให้ปลายซี่สั้นสอดเข้าไปเวลาร้อยคือ ประติดกับซี่สั้น
        ส่วนการทำซี่ร่มสั้นนั้น ตัดไม้ยาวตามขนาดที่ต้องการแล้วเกลาเอาผิวไม้ออก แล้วทำเครื่องหมายสำหรับเจาะรู แล้ว จักเป็นซี่ๆ เหลาสองข้างให้เรียบร้อย ปลายซึ่งข้างหนึ่งปาดท้องซี่ให้เป็นมุมแล้วเหลา 2 ข้าง ให้บางที่จะสอดเข้ารองตุ่มร่มได้ ส่วนอีกข้างหนึ่งเหลาปลายให้มน และเหลาตรงปลาย 2 ข้างให้บางพอสมควร
        3. การเจาะรูซี่ร่มสั้นและซี่ร่มยาว ใช้เหล็กแหลมชนิดปลายเป็นสามเหลี่ยมเจาะโดยการหมุนไปหมุนมาหรือ จะใช้เหล็กแหลมเผาไฟให้ร้อนแล้วเจาะรูก็ได้ (ถ้าไม่มีเครื่องเจาะ) แต่ถ้ามีเครื่องเจาะซี่ร่มโดยเฉพาะ ก็ใช้เครื่องเจาะเพราะจะได้เร็ว
        4. การมัดหัวร่มและตุ่มร่มนำเอาซี่ร่มยาวและซี่ร่มสั้นที่เจาะรูแล้วร้อยติดกันเรียงเป็นตับโดยร้อยเอาทางหลัง ซี่ขึ้นข้างบนทุกซี่ แล้วเอาหัวร่มที่ผ่าร่องซี่แล้วมาปาดซี่ออกเสีย 1 ช่อง เพื่อสำหรับจะได้ไว้ผูกปมเชือก เอาซี่ร่มที่ร้อยแล้วใส่ลงไป ในหัวร่มช่องละซี่ แล้วดึงเชือกให้ตึงแล้วใส่ต่อไปอีกจนครบทุกช่อง แล้วดึงปลายเชือกทั้ง 2 ข้างให้ตึง เอาปลายเชือกผูกให้แน่น แล้วตัดเชือกที่ผูกออกให้เหลือปลายเชือกไว้ประมาณข้างละ 1 นิ้ว การมัดหัวร่มและตุ้มร่มทำด้วยวิธีเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง 
อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น