วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เครื่องเงินวัวลาย (เครื่องประดับและของตกแต่งบ้าน)


เครื่องเงินวัวลาย
        เครื่องเงิน ของบ้านศรีสุพรรณปรากฏหลักฐานตั้งแต่ พญามังราย สร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสร้างความสัมพันธ์กับพุกาม และเจรจาขอช่างฝีมือมายังเมืองเชียงใหม่ เพื่อฝึกอาชีพเสริมให้กับประชาชน ทำให้เชียงใหม่มีช่างหัตถกรรมพื้นบ้านที่ได้รับการฝึกฝนและมีการสืบทอดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำเครื่องเงินของช่างบ้านศรีพรรณ ช่างในคุ้มหลวงเมืองเชียงใหม่ ได้ถ่ายทอดการทำเครื่องเงินให้แก่ลูกหลานจนสามารถเป็นช่างฝีมือในการทำเครื่องเงิน และเป็นที่ยอมรับได้ขยายแหล่งที่ผลิตเครื่องเงิน ไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ เช่นบ้านหารแก้ง อำเภอหางดง บ้านแม่หย้อย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
          ในอดีตชาวบ้านวัวลายจะประกอบอาชีพทำนาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อว่างเว้นจากการทำนาก็จะเป็นช่างฝีมือ ทำเครื่องเงินตามที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ เกือบทุกบ้านจะมีโรงงานขนาดเล็กประจำอยู่ที่บ้าน เรียกว่า "เตาเส่า" สมาชิกในครอบครัวจะช่วยกันทำเครื่องเงินเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน และเพื่อการค้า

ความสำคัญของเครื่องเงินวัวลาย
      เครื่องเงินวัวลายเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงและมีคุณค่าของจังหวัดเชียงใหม่ การทำเครื่องเงินเป็นทั้งงานช่างและงานศิลป์ที่จะต้องอาศัยความประณีตและความละเอียดอ่อน เพื่อผลงานที่ออกมาจะได้สวยและงดงามตามลวดลายต่างๆที่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเงินวัวลาย

       วัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือผลิตเครื่องเงิน

1.วัตถุดิบ
2.อุปกรณ์หลอม


3.อุปกรณ์ขึ้นรูป


กระบวนการผลิตเครื่องเงิน
ขั้นตอนที่ 1
การหลอมเงิน
1.จัดเตรียมเม็ดเงินบริสุทธิ์ตามจำนวนปริมาณที่ต้องการ
2.นำเม็ดเงินบริสุทธิ์ลงในเบ้าหลอมเพื่อเตรียมนำเข้าเตาหลอม
3.นำเบ้าที่ใส่เม็ดเงินไว้เรียบร้อยเข้าเตาหลอม
4.หลอมโดยใช้ไฟสูง 200 องศาประมาณ 10 นาที
5.จัดเตรียมพิมพ์หล่อไว้ให้เรียบร้อยโดยใช้ผงถ่านเช็ดที่แม่พิมพ์เพื่อมิให้เนื้อเงินติดแม่พิมพ์
6.เทเนื้อเงินที่เป็นของเหลวลงงานพิมพ์หล่อที่จัดเตรียมไว้
7.เนื้อเงินที่หลอมละลายจะไหลลงพิมพ์และแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้
8.จะได้เงินที่หลอมไว้เนื้อเดียวกันเรียบร้อยและพร้อมนำขึ้นรูป

ขั้นตอนที่ 2
การขึ้นรูป
1.นำเงินที่หลอมได้ เตรียมทำการขึ้นรูป
2.ช่างจะนำแว่นเงินที่ได้มาทำการตีด้วยค้อนแต่ละขนาด เพื่อให้เนื้อเงินขยายตามรูปทรง ขนาดของถาดที่กำหนด
3.เมื่อตีขึ้นรูปตามที่กำหนดไว้ตามรูปร่างที่กำหนด

ขั้นตอนที่ 3
การทำลวดลาย
1.นำเงินที่จะสลักลวดลายใส่ไปในแท่นพิมพ์ที่ทำด้วยชัน
2.ตอกลายจากข้างในขันเงินให้นูนออกมา
3.ใส่ชันลงไปในขันเงินนั้นให้เต็ม และคว่ำขันเงินนั้น เพื่อแต่งลวดลายภายนอกให้สวยงามด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆให้เหมาะสมกับลายนั้น
4.เอาชันออกจากขันเงินโดยการลนไฟ เมื่อชันละลายก็จะหลุดออกมาจากแบบพิมพ์
5.ผิวที่ขรุขระใช้ขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวเนื้อเรียบ
6.นำขันเงินที่เสร็จแล้วนั้นไปต้มด้วยน้ำกรดผสมกำมะถัน ต้มนานประมาณ 30 นาที ให้อุณหภูมิที่สูงมาก ถ้าอุณหภูมิไม่สูง วัตถุที่ต้มจะไม่ขาว
ขัดขันเงินในน้ำสะอาดด้วยแปรงทองเหลือง จะใช้ผงซักฟอกกับน้ำมะขามเปียก หรือผงหินขัดก็ได้ ขันเงินนั้นจะขาวเป็นเงางาม
 ขั้นตอนที่ 4
การทำความสะอาด

1.ใช้แป้งจีนขัดได้โดยไม่ต้องใช้น้ำ
2.ซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดเครื่องเงินโดยเฉพาะ ซึ่งมีด้วยกันหลากหลาย
ยี่ห้อ ทั้งที่เป็นแบบผ้าเช็ดทำความสะอาดสำเร็จรูป ซึ่งใช้สำหรับทำความสะอาดเครื่องเงินโดยเฉพาะ หรือจะเป็นแบบครีมกระปุก สำหรับเช็ดทำความสะอาดเครื่องประดับ ซึ่งหาซื้อง่ายตามร้านขายเครื่องประดับทั่วไป
3.ใช้น้ำส้มสายชู หรือน้ำมะขามเปียกในการต้ม ผสมน้ำ 1 ต่อ 2 ต้มพอเดือดสามารถเอาเครื่องเงินจุ่มลงไปได้เลย รอสักครู่ก็จะได้เครื่องเงินที่ขาวใส แวววาว
4.เอาน้ำใส่หม้อ เติมโซดาซักผ้า 2 ช้อนชา แล้วนำเครื่องเงินใส่ลงหม้อเพื่อต้มแล้วล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง ขัดด้วยผงขัดเงินเช็ดด้วยผ้านุ่มๆ
5.นำเครื่องเงินแช่ไว้ในน้ำต้มมันฝรั่ง 1 ชั่วโมง แล้วนำขึ้นล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้งจะดูเป็นเงาเหมือนใหม่
 6.ใช้น้ำมะขามเปียกหรือน้ำมะนาวผสมขี้เถ้าขัด แล้วล้างด้วยน้ำสบู่ผสมน้ำอุ่น ล้างน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้ง ถ้าไม่ใช้น้ำมะขามเปียกจะใช้ยาขัดชนิดผงหรือน้ำที่มีขายตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้ามาใช้ทำความสะอาดก็ได้เพื่อความสะดวก แต่ยาขัดชนิดนี้จะมีส่วนผสมของอลูมิเนียมและโซดาอยู่
7.บีบยาสีฟันออกจากหลอดแล้วไปตากให้แห้ง จากนั้นบดให้ละเอียดผสมน้ำมะนาว คนให้เข้ากันใช้สำลีชุบส่วนผสม นำไปขัดเครื่องเงินให้ทั่ว หรือจะใช้ขี้บุหรี่ผสมน้ำมะนาวขัดแทนก็ได้

 ขั้นตอนที่ 5
การตรวจเช็คคุณภาพ
       การตรวจสอบเครื่องเงินควรตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และตรวจอย่างละเอียด หากเครื่องเงินมีตำหนิหรือเสียหายจะได้นำกลับไปซ้อมแซม และนำไปทำความสะอาด

ขั้นตอนที่ 6

การนำเข้าบรรจุภัณฑ์
1.เตรียมถุงพลาสติกที่มีความอดทนและมีความหนาบางพอสมควร
2.เลือกขนาดของถุงพลาสติกให้เหมาะสมกับเครื่องเงินชิ้นนั้น
3.นำเครื่องเงินใส่ถุงพลาสติก จัดทรงของถุงพลาสติกให้สวยงาม
4.ถ้าเป็นเครื่องเงินชิ้นเล็ก ให้เย็บถุงพลาสติกด้วยเม็กซ์เย็บกระดาษ
หากเป็นเครื่องเงินชิ้นใหญ่ ให้รัดด้วยเชือกสีต่างๆ ให้สวยงาม
5.นำเครื่องเงินประเภทเครื่องประดับใส่ไว้ในตู้ เพื่อวางขายต่อไป



 ผู้ให้ข้อมูล
คุณ สมนึก  อุดมเศษณ์

  
สถานที่
   ร้านวัวลายศิลป์ 106-10 วัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50000







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น